วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วงปี่พาทย์เสภา

ป็นวงปี่พาทย์ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สำหรับการเล่นเสภาในอดีต  มีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ ดังนี้ 
๑. เริ่มแรกผู้ขับจะขับเสภาเป็นเรื่องราว  พร้อมกับขยับกรับในไม้ต่างๆให้สอดประสานไปกับบทจนจบเรื่อง
๒. ต่อมาให้มีดนตรีเข้ามาบรรเลงประกอบในการขับเสภา  แต่บรรเลงเฉพาะกิริยาอารมณ์ต่าง ๆ ของตัวละครในบท  เช่น ไป มา โกรธ ดีใจ หรือเสียใจ เป็นต้น
๓. ต่อมานำบทเสภาบางตอนที่ไพเราะมาร้องส่งให้ปี่พาทย์รับ  ซึ่งในชั้นแรกจะเป็นเพลงในอัตราสองชั้น  โดยสร้างรูปแบบและวิธีการเล่นปี่พาทย์เสภาที่มีปี่พาทย์ประกอบคือ  เริ่มด้วยวงปี่พาทย์บรรเลงเพลง รัวประลองเสภา   ผู้ขับ ขับเสภาในบทไหว้ครู  แล้วขับเข้าเรื่อง  บทเสภาบทใดไพเราะ ผู้ขับก็จะร้องส่งให้ปี่พาทย์รับ  แล้วขับเสภาเดินเรื่องต่อ  กระทำสลับกันจนจบเรื่อง  ในระหว่างบทร้องส่งเพลงสุดท้าย  เมื่อปี่พาทย์รับแล้ว  จะลงจบด้วยทำนองเพลงที่เป็น ลูกหมด
๔. การขยับกรับขับเสภาเป็นเรื่องราวจึงลดน้อยค่อยๆหายไป  คงเหลือแต่การนำบทเสภาในเรื่องต่างๆมาขับร้องส่งให้ปี่พาทย์รับ  พร้อมทั้งสร้างรูปแบบ  ลำดับวิธีการบรรเลงปี่พาทย์เสภา  ยึดถือเป็นระเบียบดังนี้ 
๑. รัวประลองเสภา   
๒. โหมโรงเสภา  
๓. เพลงพม่า ๕ ท่อน 
๔. เพลงจะเข้หางยาว   
๕. เพลงสี่บท   
6. เพลงบุหลัน
จากนั้นจะร้องและบรรเลงเพลงประเภททยอย  เช่น ทยอยเขมร  ทยอยนอกทยอยใน  โอ้ลาว  แขกลพบุรี  แขกโอด เป็นต้น  หรืออาจต่อด้วยเพลงตับเรื่องต่างๆ เมื่อจะจบการ บรรเลง  จะบรรเลงและขับร้อง เพลงลา" เป็นอันดับสุดท้าย  สำหรับเพลงลาเป็นเพลงลักษณะหนึ่งที่ท่วงทำนองตอนหนึ่งให้ปี่ว่า ดอก ตามบทร้อง เช่น เพลงเต่ากินผักบุ้ง  เพลงพระอาทิตย์ชิงดวง
วงปี่พาทย์เสภามีรูปแบบจัดวง ๓ รูปแบบ
๑. วงปี่พาทย์เสภาเครื่องห้า
๒. วงปี่พาทย์เสภาเครื่องคู่
๓. วงปี่พาทย์เสภาเครื่องใหญ่
ลักษณะการจัดวงใช้วิธีการจัดวงเหมือนวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เปลี่ยนเอากลองทัดและตะโพนออก ใช้กลองสองหน้าควบคุมจังหวะหน้าทับแทน



<<<ก่อนหน้า 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น