วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

เครื่องดนตรีประเภทเป่า

เครื่องเป่า เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงจากลมเป่า อุปกรณ์ดังเดิมได้จากพืช ได้แก่หลอดไม้ต่างๆ และจากสัตว์ ได้แก่ เขาสัตว์ต่างๆ ต่อมาได้มีวิวัฒนาการด้วยการเจาะรูและทำลิ้น เพื่อให้เกิดระดับเสียงได้มาก เครื่องดนตรีเหล่านี้ ได้แก่ ขลุ่ยชนิดจ่างๆ ปี่ชนิดต่างๆ เป็นต้น

1.ขลุ่ยเพียงออ






ขลุ่ยเพียงออ เป็นเครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องเป่าชนิดไม่มีลิ้น ทำจากไม้รวกปล้องยาวๆ ด้านหน้าเจาะรูเรียงกัน สำหรับปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง ตรงที่เป่าไม่มีลิ้นแต่มีดาก ซึ่งทำด้วยไม้อุดเหลาเป็นท่อนกลมๆยาวประมาณ ๒ นิ้ว สอดลงไปอุดที่ปากของขลุ่ย แล้วบากด้านหนึ่งของดากเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เราเรียกว่า ปากนกแก้ว เพื่อให้ลมส่วนหนึ่งผ่านเข้าออกทำให้เกิดเสียงขลุ่ยลมอีกส่วนจะวิ่งเข้าไปปลายขลุ่ยประกอบกับนิ้วที่ปิดเปิดบังคับเสียงเกิดเป็นเสียงสูงต่ำตามต้องการใตปากนกแก้วลงมาเจาะ ๑ รู เรียกว่า รูนิ้วค้ำ เวลาเป่าต้องใช้หัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนี้ บางเลาด้านขวาเจาะเป็นรูเยื่อ ปลายเลาขลุ่ยมีรู ๔ รู เจาะตรงกันข้ามแต่เหลื่อมกันเล็กน้อย ใช้สำหรับร้อยเชือกแขวนเก็บหรือคล้องมือจึงเรียกว่า รูร้อยเชือก รวมขลุ่ยเลาหนึ่งมี ๑๔ รูด้วยกัน
รูปร่างของขลุ่ยเมือพิจารณาแล้วจะเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง จากหลักฐานที่พบขลุ่ยในหีบศพภรรยาเจ้าเมืองไทยที่ริมฝั่งแม่น้ำฮวงเหอ ซึ่งมีหลักฐานจารึกศักราชไว้ไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ ปี ปัจจุบันขลุ่ยมีราคาสูง เนื่องจากไม้รวกชนิดที่ทำขลุ่ยมีน้อยลงและใช้เวลาทำมากจึงใช้วัตถุอื่นมาเจาะรูซึ่งรวดเร็วกว่า เช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ ไม้ชิงชัน ไม้พยุง บางครั้งอาจทำจากท่อพลาสติกแต่คุณภาพเสียงไม่ดีเท่าขลุ่ยไม้ ขลุ่ยที่มีเสียงไพเราะมากส่วนใหญ่จะเป็นขลุ่ยผิวไม้แห้งสนิท
ขลุ่ยใช้เป่าในวงเครื่องสายไทย วงมโหรี และในวงปี่พาทย์ไม้นวม วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
การเทียบเสียงขลุ่ยเพียงออกับระดับเสียงดนตรีสากล เสียงโดของขลุ่ยเพียงออ เทียบได้เท่ากับ เสียง ทีแฟล็ต ในระดับเสียงทางสากล ปัจจุบันได้มีการทำขลุ่ยเพียงออที่มีระดับเสียงเท่ากับระดับเสียงสากล เรียกว่าขลุ่ยเพียงออ ออร์แกนบ้าง หรือขลุ่ยกรวดบ้าง แต่ในทางดนตรีสากลจะเรียกเป็นขลุ่ยไทยหมด จะเอาระดับเสียงมาเป็นตัวแยกขนาดเช่น ขลุ่ยคีย์ C, ขลุ่ยคีย์ D, ขลุ่ยคีย์Bb, ขลุ่ยคีย์ G เป็นต้น





2.ปี่ใน


ปี่ใน เป็นปี่ที่มีขนาดใหญ่และมีเสียงต่ำ ในบรรดาเครื่องเป่าที่มีลิ้นตระกูลปี่ใน ลักษณะเป็นปี่ท่อนเดียว ลำปี่ที่ทำหน้าที่เป็นตัวขยายเสียงเรียกว่า"เลา"
เลาปี่ทำมาจากไม้ เช่น ไม้พยุง ไม้ชิงชัน มีความยาวประมาณ 52 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร มีลักษณะหัวบานท้ายและป่องตรงกลาง เจาะรูกลางตลอดเลา ด้านบนมีรูเล็กใช้เสียบลิ้นปี่ ด้านล่างรูจะใหญ่ บริเวณเลาปี่ที่ป่องตรงกลางจะเจาะรู 6 รู ลิ้นปี่ทำจากใบตาลนำมาตัดซ้อนกัน 4 ชั้น ตัดผูกกับท่อทองเหลืองเล็กๆ เรียกว่า"กำพวด"
ปี่ในใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์


 <<หน้าแรก

เครื่องดนตรีประเภทตี

เครื่องตี เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงดนตรีด้วยการใช้ของสองสิ่งกระทบกันด้วยการตีนับว่าเป็นเครื่อง ดนตรีประเภทเก่าแก่ที่สุดที่ที่มนุษย์รู้จักใช้ได้มีวิวัฒนาการจากอุปกรณ์ง่ายๆให้มีความหลากหลายออกไปทั้ง รูปแบบและวัสดุที่ใช้ สำหรับเครื่องดนตรีไทย ที่ป็นเครื่องดนตรีมีดังนี้

1.ระนาดเอก

ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน
ลูกระนาดนี้ทำด้วย ไม้ชิงชัน หรือไม้แก่น เช่น ไม้ไผ่บง ไม้มะหาด ไม้พะยูงก็ได้ โดยนำมาเหลาให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ แล้วทำรางเพื่ออุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ให้หัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า รางระนาด แผ่นไม้ที่ปิดหัวท้ายรางระนาดเราเรียกว่า โขน ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม มีเท้ารองรางเป็นเท้าเดี่ยว รูปคล้ายกับพานแว่นฟ้า
ระนาดเอกใช้ในวงปี่พาทย์และวงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำ





2.ฆ้องวงใหญ่

ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากฆ้องรางของอินโดนีเซีย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนประกอบของฆ้องวงใหญ่ประกอบด้วยลูกฆ้องและวงฆ้อง ลูกฆ้องมี 16 ลูกทำจากทองเหลือง เรียงจากลูกเล็กด้านขวา วงฆ้องสูงประมาณ 24 เซนติเมตร ใช้หวายโป่งทำเป็นราง ให้หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกัน 14-17 เซนติเมตร ใช้หวาย 4 อัน ด้านล่าง 2 อันขดเป็นวงขนานกัน เว้นที่ไว้ให้นักดนตรีเข้าไปบรรเลง
ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่จะเล่นดนตรีในวงปี่พาทย์ต้องมาเรียนฆ้องวงใหญ่ก่อน ฆ้องวงใหญ่ทำหน้าที่เดินทำนองหลัก ซึ่งถือเป็นแม่บทของเพลง
ฆ้องวงใหญ่ใช้เล่นในวงปี่พาทย์ วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงมโหรี



<<หน้าแรก

เครื่องดนตรีประเภทสี

เป็นเครื่องสายที่ทำให้เกิดเสียงด้วยการใช้คันชักสีเข้ากับสายในดนตรีไทยเรียกว่า ซอ ด้วยกัน คือ

1.ซอด้วง


ซอด้วงเป็นซอสองสาย มีเสียงแหลม ก้องกังวาน คันทวนยาวประมาณ 72 ซม คันชักยาวประมาณ 68 ซม ใช้ขนหางม้าประมาณ 120 – 150 เส้น กะโหลกของ ซอด้วงนั้น แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ปากกระบอกของซอด้วงกว้างประมาณ 7 ซม ตัวกระบอกยาวประมาณ 13 ซม กะโหลกของซอด้วงนี้ ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรือ งาช้างทำก็ได้
แต่ที่นิยมว่าเสียงดีนั้น กะโหลกซอด้วงต้องทำด้วยไม้ลำเจียก ส่วนหน้าซอนิยมใช้หนังงูเหลือมขึง เพราะทำให้เกิดเสียงแก้วเกิดความไพเราะอย่างยิ่ง ลักษณะของซอด้วง มีรูปร่างเหมือนกับซอของจีนที่เรียกว่า ฮู – ฉิน (Huchin) ทุกอย่าง เหตุที่เรียกว่า ซอด้วง ก็เพราะมีรูปร่างคล้ายเครื่องดักสัตว์ เพราะตัวด้วงดักสัตว์ ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่เหมือนกีน จึงได้เรียกชื่อไปตามลักษณะนั้นนั่นเอง
สายซอด้วงนั้น มีเพียงสองสายและมีเสียงอยู่ สองเสียง คือสายเอกจะเป็นเสียง "เร" ส่วนสายทุ้มจะเป็นเสียง "ซอล" โดยใช้สายไหมฟั่นหรือว่าสายเอ็นก็ได้
ซอด้วงใช้ในวงเครื่องสาย วงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวงและเป็นหลักในการดำเนินทำนอง




2.ซอสามสาย

ซอสามสาย เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง จำพวกเครื่องสาย มีขนาดใหญ่กว่าซอด้วงหรือซออู้ และมีลักษณะพิเศษ คือมีสามสาย มีคันชักอิสระ กะโหลกซอมีขนาดใหญ่ นับเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสง่างามชิ้นหนึ่งในวงเครื่องสาย ผู้เล่นจะอยู่ในตำแหน่งด้านหน้าของวง
เสียงของซอสามสาย
1.สายเอก ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ซอล และใช้ปลายนิ้วแตะที่ข้างสายโดยใฃ้นิ้วชี้ จะเป็นเสียง ลา, ใช้นิ้วกลางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วนางแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียงโด, ใช้นิ้วก้อยแตะที่ข้างสายจะเป็นเสียง เร (เสียงสูง) , ใช้นิ้วก้อยรูดที่สายจะเป็นเสียง มี (เสียงสูง)
2.สายกลาง ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง เร และใช้นิ้วชี้กดลงบนสายจะเป็นเสียง มี, ใช้นิ้วกลางกดลงบนสายจะเป็นเสียง ฟา, ใช้นิ้วนางกดลงบนสายเป็นเสียง ซอล
3.สายทุ้ม ถ้าปล่อยไม่จับสายจะเป็นเสียง ลา และใช้นิ้วชี้กดลงที่สายจะเป็นเสียง ที, ใช้นิ้วกลางกดลงที่สายจะเป็นเสียง โด, ใช้นิ้วนางกดลงที่สายจะเป็นเสียง เร

<<หน้าแรก

เครื่องดนตรีประเภท ดีด

เครื่องดีดคือ เครื่องดนตรีไทยที่บรรเลงหรือเล่นด้วยการใช้นิ้วมือ หรือไม้ดีด ดีดสาย ให้สั่นสะเทือนจึงเกิดเสียงขึ้น เครื่องดนตรีไทยประเภทนี้มีหลายชนิด แต่ที่นิยมเล่น กันแพร่หลาย ในปัจจุบันมีอยู่ไม่กี่ชนิด คือ
1.กระจับปี่


กระจับปี่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด หรือพิณ 4 สายชนิดหนึ่ง ตัวกะโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง มีความหนาประมาณ 7 ซม. ด้านหน้ายาวประมาณ 44 ซม. กว้างประมาณ 40 ซม. ทำคันทวนเรียวยาวประมาณ 138 ซม. ตอนปลายคันทวนมีลักษณะ แบน และบานปลายผายโค้งออกไป ถ้าวัดรวมทั้งคันทวนและตัว กะโหลก จะมีความยาวประมาณ 180 ซม. มีลูกบิดสำหรับขึ้นสาย 4 อัน มีนมรับนิ้ว 11 นมเท่ากับจะเข้ ตรงด้านหน้ากะโหลกมีแผ่นไม้บางๆ ทำเป็นหย่องค้ำสายให้ตุงขึ้น เวลาบรรเลงใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ จับไม้ดีด เขี่ยสายให้เกิดเสียง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า “ร้องเพลงเรือ เป่าปี่เป่าขลุ่ย สีซอดีดจะเข้ กระจับปี่ตีโทนทับ โห่ร้องนี่นั่น” ต่อมาก็นำมาใช้เป็นเครื่องดีดประกอบการขับไม้ สำหรับบรรเลงในพระราชพิธี แต่เนื่องจากกระจับปี่มีเสียงเบา และมีน้ำหนักมาก ผู้ดีดกระจับปี่จะต้องนั่งพับเพียบขวาแล้วเอาตัวกระจับปี่ วางบนหน้าขาข้างขวาของตน เพื่อทานน้ำหนัก มือซ้ายถือคันทวนมือ ขวาจับไม้ดีด เป็นที่ลำบากมาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่นกระจับปี่ ในปัจจุบันจึงหาผู้เล่นได้ยาก
กระจับปี่ สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจาก ภาษาชวา คำว่า กัจฉปิ ซึ่งคำว่า กัจฉปิ นั้นมีรากฐานของคำศัพท์ ในบาลีสันสกฤต คำว่า กัจฉปะ ที่แปลว่า เต่า เนื่องจากลักษณะของ กระจับปี่นั้น จะมีกระโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง ซึ่งมองแล้วคล้ายกับกระดองของเต่า จาก นิรัย พันแก่น และ ทับทิม สุกใส





2.จะเข้

จะเข้ เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี 3 สาย เข้าใจว่าได้ปรับปรุงแก้ไขมาจากพิณ คือ กระจับปี่ซึ่งมี 4 สาย นำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้นิยมเล่นจะเข้กันมาก ทำให้กระจับปี่ค่อย ๆ หายไปในปัจจุบัน เนื่องจากหาผู้เล่นเป็นน้อยตัวจะเข้ทำเป็นสองตอน คือตอนหัวและตอนหาง โดยลักษณะทางตอนหัวเป็นกระพุ้งใหญ่ ทำด้วยไม้แก่นขนุน หนาประมาณ 12 ซม. ยาวประมาณ 52 ซม. และกว้างประมาณ 11.5 ซม. ท่อนหัวและท่อนหางขุดเป็นโพรงตลอด รวมทั้งสิ้นมีความยาวประมาณ 130 – 132 ซม. ปิดใต้ทองด้วยแผ่นไม้ มีเท้ารองตอนหัว 4 เท้า และตอนปลายปางอีก 1 เท้า วัดจากปลายเท้าถึงตอนบนของตัวจะเข้ สูงประมาณ 19 ซม. ทำหลังนูนตรงกลางให้สองข้างลาดลง โยงสายจากตอนหัวไปทางตอนหางเป็น 3 สาย มีลูกบิดประจำสายละ 1 อัน สาย 1 ใช้เส้นลวดทองเหลือง อีก 2 สายใช้เส้นเอ็น มีหย่องรับสายอยู่ตรงปลายหางก่อนจะถึงลูกบิด ระหว่างตัวจะเข้มีแป้นไม้เรียกว่า นม รองรับสายติดไว้บนหลังจะเข้ รวมทั้งสิ้น 11 อัน เพื่อไว้เป็นที่สำหรับนิ้วกดนมแต่ละอันสูง เรียงลำดับขึ้นไป ตั้งแต่ 2 ซม. จนสูง 3.5 ซม.เวลาบรรเลงใช้ดีดด้วยไม้ดีดกลมปลายแหลมทำด้วยงาช้างหรือกระดูกสัตว์ เคียนด้วยเส้นด้ายสำหรับพันติดกับปลายนิ้วชี้ข้างขวาของผู้ดีด และใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วกลางช่วยจับให้มีกำลัง เวลาแกว่งมือส่ายไปมา ให้สัมพันธ์ กับมือข้างซ้ายขณะกดสายด้วย